ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

เมื่อไรอคติจะหมดไปจากโลก?

เมื่อไรอคติจะหมดไปจากโลก?

“ข้าพเจ้ามีความฝัน.” ห้าสิบปีมาแล้ว ในวันที่ 28 สิงหาคม 1963 มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ ชาวอเมริกันผู้นำหน้าในการเรียกร้องสิทธิพลเมืองได้กล่าวเช่นนี้ในสุนทรพจน์อันโด่งดังของเขา. ด้วยถ้อยคำที่ทรงพลังและจับใจ คิงได้กล่าวถึงความฝันของเขาที่ว่าสักวันหนึ่งผู้คนจะมีชีวิตที่หลุดพ้นจากอคติด้านเชื้อชาติ. แม้ว่าคิงจะประกาศความหวังของเขาต่อหน้าประชาชนชาวอเมริกัน แต่ผู้คนมากมายในหลายประเทศก็มีความฝันแบบเดียวกับเขา.

มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ ขณะกล่าวสุนทรพจน์เพื่อเรียกร้องสิทธิของพลเมือง

สามเดือนหลังจากนั้น ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 1963 ชาติต่างๆมากกว่า 100 ประเทศได้ลงนามในปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติทุกรูปแบบ. ในทศวรรษต่อๆมา นานาชาติเห็นพ้องกันว่ามีอีกหลายประเด็นที่ต้องแก้ไขร่วมกัน. ความพยายามที่น่ายกย่องทั้งหมดนี้ก่อให้เกิดคำถามที่ว่า ผลเป็นอย่างไร?

วันที่ 21 มีนาคม 2012 นายบัน คีมูน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติได้แถลงว่า “เรามีสนธิสัญญาและเครื่องมือที่เป็นประโยชน์มากมาย รวมทั้งกรอบการดำเนินงานระดับโลกเพื่อป้องกันและขจัดการเหยียดผิว การเลือกปฏิบัติ ความเกลียดกลัวคนต่างชาติ ตลอดจนอคติในรูปแบบอื่นๆ. ถึงกระนั้น การเหยียดผิวก็ยังคงเป็นปัญหาที่ก่อความทุกข์แก่หลายล้านคนทั่วโลก.”

แม้แต่ในประเทศที่การต่อสู้เพื่อเอาชนะอคติด้านชาติพันธุ์หรือด้านอื่นๆดูเหมือนจะคืบหน้าอยู่บ้าง คำถามก็ยังมีอยู่ว่าความคืบหน้าดังกล่าวสามารถขจัดความรู้สึกชิงชังที่ฝังลึกในจิตใจของผู้คนได้จริงๆไหม หรือเพียงแค่ทำให้ผู้คนรู้ว่าพวกเขาต้องซ่อนความรู้สึกนั้นไว้ไม่ให้คนอื่นเห็น? บางคนเชื่อว่าความพยายามเหล่านั้นทำได้ก็แค่ป้องกันการเลือกปฏิบัติ แต่ไม่ได้ขจัดอคติ ออกไป. ทำไมจึงกล่าวเช่นนั้น? เพราะการเลือกปฏิบัติเป็นการกระทำที่มองเห็นได้และมีโทษตามกฎหมาย ในขณะที่อคติเกี่ยวข้องกับความคิดและความรู้สึกภายในซึ่งไม่สามารถควบคุมได้ง่ายๆ.

ดังนั้น เพื่อจะเอาชนะอคติ ผู้มีอำนาจหน้าที่ต้องไม่เพียงขจัดการเลือกปฏิบัติออกไปแต่ต้องเปลี่ยนความคิดและความรู้สึกของผู้คนที่มีต่อคนกลุ่มอื่นด้วย. เรื่องนี้จะเป็นไปได้จริงๆไหม? ถ้าเป็นไปได้ โดยวิธีใดล่ะ? ให้เรามาดูประสบการณ์ชีวิตจริงของหลายคนซึ่งไม่เพียงแสดงว่าคนเราสามารถเปลี่ยนความคิดจิตใจได้ แต่ยังชี้ให้เห็นด้วยว่าอะไรช่วยให้พวกเขาทำเช่นนั้น.

คัมภีร์ไบเบิลช่วยพวกเขาเอาชนะอคติ

“ฉันหลุดพ้นจากการเป็นทาสของอคติแล้ว.”—ลินดา

ลินดา: ฉันเกิดในประเทศแอฟริกาใต้. ฉันเคยคิดว่าคนแอฟริกาใต้ที่ไม่ใช่คนผิวขาวเป็นคนชั้นต่ำ ไร้การศึกษา ไร้ค่า และเป็นได้แค่คนรับใช้ของคนผิวขาวเท่านั้น. ฉันกลายเป็นคนที่มีอคติโดยไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ. แต่ทัศนะของฉันเปลี่ยนไปเมื่อฉันเริ่มศึกษาคัมภีร์ไบเบิล. ฉันได้เรียนรู้ว่า “พระเจ้าไม่ทรงลำเอียง” และหัวใจสำคัญกว่าสีผิวหรือภาษาที่เราพูด. (กิจการ 10:34, 35; สุภาษิต 17:3) ข้อคัมภีร์ที่ฟิลิปปอย 2:3 ช่วยให้เข้าใจว่าถ้าฉันมองว่าทุกคนดีกว่าตัวเอง ฉันจะเอาชนะอคติได้. การดำเนินชีวิตตามหลักการเหล่านี้ในคัมภีร์ไบเบิลช่วยให้ฉันสนใจคนอื่นไม่ว่าเขาจะมีผิวสีอะไร. ตอนนี้ฉันหลุดพ้นจากการเป็นทาสของอคติแล้ว.

“ผมได้เรียนรู้ว่าพระเจ้ามองดูผู้คนอย่างไร.”—ไมเคิล

ไมเคิล: ผมโตขึ้นในย่านที่ผู้คนส่วนใหญ่เป็นชาวออสเตรเลียผิวขาวและผมเกลียดคนเอเชียเอามากๆ โดยเฉพาะคนจีน.  ระหว่างขับรถ ถ้าผมเห็นใครหน้าตาคล้ายคนเอเชีย ผมจะลดกระจกลงและตะโกนด่าเขาว่า “กลับบ้านแกไปซะ ไอ้พวกเอเชีย!” แต่หลังจากได้ศึกษาคัมภีร์ไบเบิล ผมได้เรียนรู้ว่าพระเจ้ามองผู้คนอย่างไร. พระองค์รักมนุษย์ทุกคนไม่ว่าพวกเขาจะเป็นใครมาจากไหนหรือมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร. เพราะซาบซึ้งในความรักของพระเจ้า ความเกลียดชังในใจผมจึงแปรเปลี่ยนเป็นความรัก. ผมไม่อยากเชื่อเลยว่าตัวเองจะเปลี่ยนไปได้ขนาดนี้. ตอนนี้ผมดีใจที่ได้คบหากับคนจากทุกประเทศไม่ว่าพวกเขาจะมีภูมิหลังอย่างไร. การคบหาเช่นนี้ทำให้ผมมองโลกกว้างขึ้นและมีความสุขมาก.

“ฉันปรับเปลี่ยนความคิดและสงบศึกกับญาติๆ.”—แซนดรา

แซนดรา: แม่ของฉันมาจากเมืองอูมูเนเดในรัฐเดลตา ประเทศไนจีเรีย. แต่ครอบครัวฝ่ายพ่อมาจากรัฐเอโดและพูดภาษาเอซาน. เพราะภูมิหลังที่ต่างกันเช่นนี้ แม่จึงถูกญาติๆฝ่ายพ่อรังเกียจจนถึงวันที่ท่านเสียชีวิต. ดังนั้น ฉันจึงสาบานกับตัวเองว่าจะไม่คบหากับคนที่พูดภาษาเอซานและไม่มีวันแต่งงานกับคนจากรัฐเอโดอย่างเด็ดขาด. แต่เมื่อได้ศึกษาคัมภีร์ไบเบิล ฉันเริ่มมีมุมมองต่างไปจากเดิม. คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าพระเจ้าไม่ทรงลำเอียงและทรงพอพระทัยทุกคนที่ยำเกรงพระองค์ แล้วฉันเป็นใครกันถึงได้รังเกียจผู้คนเพราะภาษาหรือชาติพันธุ์ของเขา? ฉันปรับเปลี่ยนความคิดและสงบศึกกับญาติๆฝ่ายพ่อ. การทำตามหลักการในคัมภีร์ไบเบิลช่วยให้ฉันมีความสุข มีใจสงบ และเข้ากับคนอื่นๆได้ ไม่ว่าพวกเขาจะมีภูมิหลังแบบไหนหรือมาจากเชื้อชาติภาษาใด. แล้วผู้ชายที่ฉันแต่งงานด้วยล่ะ? เขามาจากรัฐเอโด แล้วก็พูดภาษาเอซานด้วย!

ทำไมคัมภีร์ไบเบิลสามารถช่วยคนเหล่านี้และอีกหลายคนให้ขจัดอคติและความเกลียดชังที่ฝังรากลึกออกไปได้? ก็เพราะคัมภีร์ไบเบิลเป็นพระคำของพระเจ้า. พระคัมภีร์มีพลังในการเปลี่ยนความคิดและความรู้สึกที่คนเรามีต่อผู้อื่น. นอกจากนี้ คัมภีร์ไบเบิลยังแสดงให้เห็นว่าต้องมีอีกสิ่งหนึ่งเพื่อจะขจัดอคติทุกรูปแบบ ให้หมดสิ้นไป.

 ราชอาณาจักรของพระเจ้าจะขจัดอคติทุกรูปแบบ

แม้ว่าความรู้ในคัมภีร์ไบเบิลจะช่วยควบคุมและลบล้างความเกลียดชังออกไปจากใจของคนเราได้ แต่ยังมีอีกสองสิ่งที่ต้องจัดการแก้ไขให้ได้เพื่ออคติจะหมดไปอย่างสิ้นเชิง. สิ่งแรกคือบาปและความไม่สมบูรณ์ของมนุษย์. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวอย่างชัดเจนว่า “ไม่มีมนุษย์คนใดไม่ได้ทำบาป.” (1 กษัตริย์ 8:46, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน ) ดังนั้น ไม่ว่าเราจะพยายามมากเพียงไร เราก็ยังต้องต่อสู้กับแนวโน้มที่อยู่ลึกๆในตัวเราเช่นเดียวกับอัครสาวกเปาโล. ท่านเขียนว่า “เมื่อข้าพเจ้าอยากทำสิ่งที่ถูกต้อง สิ่งชั่วก็อยู่ในตัวข้าพเจ้า.” (โรม 7:21) ด้วยเหตุนี้ บางครั้งหัวใจที่ไม่สมบูรณ์ของเราจึงมี “ความคิดชั่วร้าย” ซึ่งทำให้เรามีอคติต่อคนอื่น.—มาระโก 7:21

อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องจัดการคืออิทธิพลของซาตานพญามาร. คัมภีร์ไบเบิลเรียกซาตานว่า “ผู้ฆ่าคน” และกล่าวว่ามันกำลัง “ชักนำทั้งโลกให้หลงผิด.” (โยฮัน 8:44; วิวรณ์ 12:9) นี่ทำให้เราเข้าใจว่าทำไมอคติจึงมีแพร่หลายและเหตุใดดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์จะขจัดความเกลียดชัง การเลือกปฏิบัติ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และอคติรูปแบบอื่นๆทั้งในด้านเชื้อชาติ ศาสนา และสังคม.

ด้วยเหตุนี้ เพื่ออคติจะหมดไปอย่างสิ้นเชิง บาปและความไม่สมบูรณ์ของมนุษย์ รวมทั้งอิทธิพลของซาตานพญามารต้องถูกขจัดออกไปก่อน. คัมภีร์ไบเบิลแสดงว่าราชอาณาจักรของพระเจ้าจะจัดการกับปัญหานี้.

พระเยซูคริสต์สอนสาวกให้อธิษฐานถึงพระเจ้าดังนี้: “ขอให้ราชอาณาจักรของพระองค์มาเถิด. ขอให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จบนแผ่นดินโลกเช่นเดียวกับในสวรรค์.” (มัดธาย 6:10) ราชอาณาจักรของพระเจ้าเป็นรัฐบาลเดียวที่จะขจัดความอยุติธรรมรวมทั้งอคติทุกรูปแบบให้หมดไป.

เมื่อราชอาณาจักรของพระเจ้ามาปกครองและควบคุมทุกสิ่งบนโลก ซาตานจะถูก “มัด” หรือถูกกักขังไว้เพื่อไม่ให้ “มันชักนำชาติต่างๆให้หลงผิด” ได้อีกต่อไป. (วิวรณ์ 20:2, 3) เมื่อถึงตอนนั้นจะมี “แผ่นดินโลกใหม่” หรือสังคมมนุษย์ซึ่ง “มีความชอบธรรมอยู่จริง.” *2 เปโตร 3:13

ทุกคนที่มีชีวิตอยู่ในสังคมที่ชอบธรรมในเวลานั้นจะเป็นมนุษย์สมบูรณ์และไม่ตกเป็นทาสบาปอีกต่อไป. (โรม 8:21) คนที่อยู่ใต้การปกครองของราชอาณาจักรของพระเจ้า “จะไม่ทำอันตราย, หรือทำความพินาศ.” ทำไม? “เพราะแผ่นดินโลกจะเต็มไปด้วยความรู้ฝ่ายพระยะโฮวา.” (ยะซายา 11:9) ในเวลานั้น มนุษย์ทุกคนจะเรียนรู้วิถีทางของพระยะโฮวาพระเจ้าและเลียนแบบความรักของพระองค์. เมื่อเป็นเช่นนี้อคติทุกรูปแบบก็จะหมดสิ้นไป “เพราะพระเจ้าไม่ทรงลำเอียง.”—โรม 2:11

^ วรรค 17 สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับราชอาณาจักรของพระเจ้าและสิ่งที่ราชอาณาจักรจะทำในไม่ช้า โปรดดูบท 3, 8, และ 9 ของหนังสือคัมภีร์ไบเบิลสอนอะไรจริงๆ? จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.