ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

เราควรอธิษฐานถึงนักบุญไหม?

เราควรอธิษฐานถึงนักบุญไหม?

มีใครบ้างที่ไม่เคยวิตกกังวลและรู้สึกว่าอยากขอความช่วยเหลือจากใครสักคน? เมื่อมีเรื่องกังวลใจ เราคงอยากคุยกับเพื่อนที่เข้าใจความรู้สึกของเราและเคยมีประสบการณ์แบบเดียวกับเรา. เพื่อนที่มีทั้งประสบการณ์และความเห็นอกเห็นใจเช่นนี้แหละที่เราต้องการ.

บางคนอาจมีความรู้สึกแบบเดียวกันเมื่อพูดถึงการอธิษฐาน. แทนที่จะอธิษฐานถึงพระเจ้าซึ่งพวกเขาคิดว่าน่าเกรงขามและสูงส่งเกินไป หลายคนรู้สึกสบายใจกว่าถ้าจะอธิษฐานถึงนักบุญ. พวกเขาคิดว่านักบุญเหล่านี้เข้าใจความรู้สึกของมนุษย์มากกว่าเพราะเคยประสบปัญหาและความยากลำบากมาแล้ว. ตัวอย่างเช่น คนที่สูญเสียของรักมักจะอธิษฐานถึง “นักบุญ” แอนโทนีแห่งปาดัว ซึ่งเป็นองค์อุปถัมภ์ผู้ที่ทำของหายหรือถูกขโมย. เมื่อมีสัตว์เจ็บป่วย หลายคนอาจอธิษฐานถึง “นักบุญ” ฟรังซิสแห่งอัสซีซี. ส่วนคนที่ท้อแท้สิ้นหวังก็มักสวดวิงวอนต่อ “นักบุญ” ยูดา ทัดเดอัส.

แต่เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าการอธิษฐานถึงนักบุญเป็นวิธีที่สอดคล้องกับคำสอนในคัมภีร์ไบเบิล? เนื่องจากการอธิษฐานของเราเป็นการสนทนากับพระเจ้า เราคงอยากรู้ว่าพระองค์ทรงฟังคำอธิษฐานของเราไหม? และเราคงอยากรู้ด้วยว่า พระเจ้าทรงรู้สึกอย่างไรถ้าเราอธิษฐานถึงนักบุญ?

พระคัมภีร์กล่าวอย่างไรเกี่ยวกับการอธิษฐานถึงนักบุญ?

การอธิษฐานถึงนักบุญมีรากฐานมาจากหลักคำสอนในคริสตจักรคาทอลิกที่ว่านักบุญสามารถสวดวิงวอนต่อพระเจ้าแทนคริสตชนได้. สารานุกรมคาทอลิกฉบับใหม่ (ภาษาอังกฤษ) อธิบายหลักคำสอนนี้ว่าเป็น “การทูลอ้อนวอนโดยผู้ที่พระเจ้าถือว่ามีสิทธิ์ที่จะทำเช่นนั้น เพื่อขอให้คนที่ต้องการความช่วยเหลือได้รับความเมตตาจากพระองค์.” ดังนั้น หลายคนจึงอธิษฐานถึงนักบุญด้วยความหวังว่าจะได้รับความโปรดปรานจากพระเจ้าผ่านทางผู้ช่วยเหลือเหล่านี้ที่มีฐานะพิเศษในสายพระเนตรของพระองค์.

หลักคำสอนนี้มีอยู่ในคัมภีร์ไบเบิลไหม? บางคนบอกว่าอัครสาวกเปาโลเป็นผู้สนับสนุนให้อธิษฐานถึงนักบุญ. ตัวอย่างเช่น ในจดหมายที่เขียนถึงคริสเตียนในกรุงโรม ท่านกล่าวว่า “พี่น้องทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอกระตุ้นเตือนพวกท่านในนามพระเยซูคริสต์เจ้าของเราและด้วยความรักอันเป็นผลของพระวิญญาณ ให้พวกท่านพากเพียรร่วมกับข้าพเจ้าในการอธิษฐานต่อพระเจ้าเพื่อข้าพเจ้า.” (โรม 15:30) เปาโลกำลังขอให้เพื่อนคริสเตียนช่วยอธิษฐานวิงวอนต่อพระเจ้าแทนท่านไหม? คงไม่ใช่แน่ๆ. ถ้ามีการวิงวอนเช่นนั้นจริง พวกเขาน่าจะเป็นฝ่ายขอเปาโลให้วิงวอนต่อพระเจ้าแทนตนมากกว่า เพราะท่านเป็นถึงอัครสาวกของพระคริสต์. คำพูดของเปาโลแสดงว่าเราสามารถขอ ให้เพื่อนคริสเตียนอธิษฐานถึงพระเจ้าเพื่อเราได้. แต่การขอเช่นนี้แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการอธิษฐาน ถึงใครคนหนึ่งที่เราเชื่อว่าอยู่ในสวรรค์เพื่อให้เขาวอนขอต่อพระเจ้าแทนเรา. เพราะเหตุใด?

ในกิตติคุณของอัครสาวกโยฮัน พระเยซูตรัสว่า “เราเป็นทางนั้น เป็นความจริง และเป็นชีวิต. ไม่มีใครจะมาถึงพระบิดา ได้นอกจากมาทางเรา.” (โยฮัน 14:6) พระองค์ยังตรัสด้วยว่า “ท่านจะขอสิ่งใดจากพระบิดาในนามของเรา พระบิดาจะประทานแก่ท่าน.” (โยฮัน 15:16, พระคัมภีร์โดยคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อพระคัมภีร์ ) พระเยซูไม่ได้ตรัสว่าเราควรอธิษฐานถึงพระองค์ แล้วพระองค์จะทูลขอต่อพระเจ้าแทนเรา. แต่พระเยซูหมายความว่าถ้าเราต้องการให้พระเจ้าฟังคำอธิษฐาน เราต้องอธิษฐานถึงพระเจ้าผ่านทางพระเยซูผู้เดียวเท่านั้น ไม่ใช่ผ่านทางผู้อื่น.

เมื่อเหล่าสาวกขอให้พระเยซูสอนพวกเขาอธิษฐาน พระองค์ตรัสตอบว่า “เมื่อพวกเจ้าอธิษฐาน ให้กล่าวว่า ‘ข้าแต่พระบิดา ขอให้พระนามของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์.’” (ลูกา 11:2) ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่เราอธิษฐาน เราควรอธิษฐานถึงพระเจ้าโดยตรง ไม่ใช่พระเยซูหรือบุคคลอื่น. เมื่อคิดถึงคำสอนที่ชัดเจนเรื่องนี้ของพระเยซู นับว่ามีเหตุผลมิใช่หรือที่จะสรุปว่าเราควรอธิษฐานถึงพระเจ้าโดยผ่านทางพระเยซูคริสต์ ไม่ใช่อธิษฐานถึงตัวแทนหรือ “นักบุญ” คนใด?

การอธิษฐานเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการนมัสการของเรา และการนมัสการผู้ใดก็ตามที่ไม่ใช่พระเจ้าถือว่าขัดกับหลักคำสอนของคัมภีร์ไบเบิลอย่างชัดเจน. (โยฮัน 4:23, 24; วิวรณ์ 19:9, 10) ด้วยเหตุนี้ เราจึงควรอธิษฐานถึงพระเจ้าเท่านั้น.

คุณควรกลัวที่จะอธิษฐานถึงพระเจ้าไหม?

ในคำเทศน์บนภูเขาของพระเยซู พระองค์ทรงยกตัวอย่างเด็กคนหนึ่งที่ขออาหารจากพ่อ. พ่อจะให้ก้อนหินแทนขนมปังไหม? หรือจะให้งูพิษแทนปลาไหม? (มัดธาย 7:9, 10) ไม่มีพ่อคนไหนจะทำอย่างนั้นกับลูกที่เขารัก!

เช่นเดียวกับพ่อที่รักลูก พระเจ้าต้องการให้เราติดต่อพูดคุยกับพระองค์โดยตรง

ลองคิดจากมุมมองของคนที่เป็นพ่อแม่. สมมุติว่าลูกของคุณอยากขออะไรบางอย่างจากคุณ. ตลอดเวลาที่ผ่านมาคุณพยายามใกล้ชิดสนิทสนมกับเขาและพร้อมจะรับฟังเขาเสมอ. แต่ลูกกลับกลัวโดยไม่มีเหตุผล แล้วไปขอให้คนอื่นมาพูดกับคุณแทนเขา. คุณจะรู้สึกอย่างไร? จะว่าอย่างไรถ้าลูกทำอย่างนี้ทุกครั้งที่ต้องการพูดคุยกับคุณและดูเหมือนว่าจะทำต่อไปเรื่อยๆ? คุณจะชอบไหมที่เขาทำแบบนี้? คงไม่แน่ๆ! พ่อแม่ที่รักลูกย่อมอยากให้ลูกมาพูดคุยกับพวกเขาโดยตรงและอยากให้ลูกรู้สึกว่าเขาสามารถบอกพ่อแม่ได้ทุกเรื่องไม่ว่าเขาต้องการอะไร.

พระเยซูทรงใช้ตัวอย่างเรื่องเด็กที่ขออาหารจากพ่อสอนบทเรียนแก่ฝูงชนว่า “ฉะนั้น ถ้าเจ้าทั้งหลายซึ่งแม้เป็นคนบาปก็ยังรู้จักให้ของดีแก่บุตร ยิ่งกว่านั้นสักเท่าใด พระบิดาของเจ้าทั้งหลายผู้สถิตในสวรรค์จะทรงประทานสิ่งดีแก่ผู้ที่ทูลขอพระองค์!” (มัดธาย 7:11) พ่อแม่ทุกคนอยากให้ลูกได้รับสิ่งดีที่สุด. พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์ก็ปรารถนามากยิ่งกว่านั้นอีกที่จะรับฟังและตอบคำอธิษฐานของเรา.

พระเจ้าทรงอยากให้เราอธิษฐานถึงพระองค์โดยตรงแม้เราจะรู้สึกว่าไม่คู่ควรเพราะมีข้อบกพร่องหลายอย่าง. พระเจ้าไม่ได้มอบหมายให้ใครฟังคำอธิษฐานของเราแทนพระองค์. คัมภีร์ไบเบิลกระตุ้นเราว่า “จงมอบภาระของท่านไว้กับพระเจ้า [พระยะโฮวา] และพระองค์จะทรงค้ำจุนท่าน.” (บทเพลงสรรเสริญ 55:22, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับ 1971 ) แทนที่จะพึ่งนักบุญหรือคนอื่นให้ทูลวิงวอนต่อพระเจ้าเพื่อเรา นับว่าดีที่เราจะปรับเปลี่ยนทัศนะและมองพระยะโฮวาพระเจ้าเป็นเหมือนพ่อที่รักเรา.

พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์ทรงสนใจและห่วงใยเราแต่ละคน. พระองค์อยากช่วยเรารับมือกับปัญหาและทรงเชิญเราให้เข้ามาใกล้พระองค์. (ยาโกโบ 4:8) การมีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระเจ้าและพระบิดาของเรา “ผู้สดับคำอธิษฐาน” เป็นสิทธิพิเศษที่ทำให้เรามีความสุขจริงๆ!—บทเพลงสรรเสริญ 65:2