ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จาก​ปก

สื่อไว้ใจได้แค่ไหน?

สื่อไว้ใจได้แค่ไหน?

หลาย​คน​ไม่​เชื่อถือ​ข่าว​ที่​ได้​อ่าน​หรือ​ฟัง​จาก​สื่อ​ต่าง ๆ. ใน​ปี 2012 สำนัก​วิจัย​แกลลัป​โพล​ใน​สหรัฐ​ได้​สำรวจ​ความ​เห็น​ของ​ประชาชน​ว่า “มี​ความ​เชื่อ​มั่น​มาก​แค่​ไหน” ใน​เรื่อง​ความ​ถูก​ต้อง ความ​เป็น​กลาง และ​ความ​ครบ​ถ้วน​ของ​รายงาน​ข่าว​ทาง​หนังสือ​พิมพ์​และ​วิทยุ​โทรทัศน์. ผู้​ตอบ​คำ​ถาม 6 ใน 10 คน​บอก​ว่า “ไม่​เชื่อ​เท่า​ไร” หรือ “ไม่​เชื่อ​เลย.” คำ​ตอบ​เช่น​นี้​มี​เหตุ​ผล​ไหม?

นัก​ข่าว​และ​สำนัก​ข่าว​ต่าง ๆ บอก​ว่า​พวก​เขา​มุ่ง​มั่น​ที่​จะ​เสนอ​ข่าว​อย่าง​ถูก​ต้อง​และ​เป็น​ประโยชน์​แก่​ประชาชน. แต่​หลาย​คน​ก็​ยัง​รู้สึก​ไม่​มั่น​ใจ. เพราะ​อะไร? ให้​เรา​มา​พิจารณา​ปัจจัย​ต่อ​ไป​นี้:

  • เจ้า​พ่อ​สื่อ บริษัท​ใหญ่​บาง​แห่ง​เป็น​เจ้าของ​สื่อ​ที่​ทรง​อิทธิพล. เจ้าของ​สื่อ​เหล่า​นี้​มี​อำนาจ​ใน​การ​ตัดสิน​ใจ​ว่า​พวก​เขา​จะ​เสนอ​ข่าว​อะไร จะ​นำ​เสนอ​อย่าง​ไร และ​จะ​ประโคม​ให้​เป็น​ข่าว​ใหญ่​แค่​ไหน. เนื่อง​จาก​บริษัท​ส่วน​ใหญ่​ตั้ง​ขึ้น​เพื่อ​แสวง​หา​ผล​กำไร การ​ตัดสิน​ใจ​ของ​เจ้าของ​สื่อ​จึง​อาจ​ขึ้น​อยู่​กับ​ผล​ประโยชน์​ทาง​ธุรกิจ. ข่าว​ที่​ไม่​สร้าง​ผล​กำไร​ให้​บริษัท​อาจ​ไม่​ถูก​หยิบ​ยก​ขึ้น​มา​นำ​เสนอ.

  • รัฐบาล ข่าว​ส่วน​ใหญ่​ที่​เรา​ได้​อ่าน​หรือ​ได้​ยิน​มัก​เกี่ยว​ข้อง​กับ​นัก​การ​เมือง​และ​การ​ทำ​งาน​ของ​รัฐบาล. รัฐบาล​ต้องการ​โน้ม​น้าว​ประชาชน​ให้​สนับสนุน​นโยบาย​ต่าง ๆ ของ​รัฐ​และ​ร่วม​มือ​กับ​เจ้าหน้าที่​บ้าน​เมือง. และ​เนื่อง​จาก​สื่อ​เอง​ก็​ต้องการ​ข่าว​จาก​ทาง​รัฐบาล บาง​ครั้ง​ทั้ง​สอง​ฝ่าย​จึง​ต้อง​พึ่ง​พา​อาศัย​กัน.

  • การ​โฆษณา ใน​ประเทศ​ต่าง ๆ ส่วน​ใหญ่ สื่อ​หลาย​ชนิด​ต้อง​พยายาม​หา​เงิน​เพื่อ​ให้​ธุรกิจ​อยู่​รอด และ​ราย​ได้​แทบ​ทั้ง​หมด​ก็​มา​จาก​การ​ขาย​โฆษณา. ใน​สหรัฐ นิตยสาร​ต่าง ๆ มี​ราย​ได้​จาก​การ​โฆษณา 50 ถึง 60 เปอร์เซ็นต์​ของ​ราย​ได้​ทั้ง​หมด ใน​ขณะ​ที่​หนังสือ​พิมพ์​มี​ราย​ได้ 80 เปอร์เซ็นต์ ส่วน​โทรทัศน์​และ​วิทยุ​มี​ราย​ได้​จาก​การ​โฆษณา 100 เปอร์เซ็นต์. ปกติ​แล้ว ไม่​มี​บริษัท​ไหน​อยาก​ซื้อ​โฆษณา​ของ​รายการ​ที่​ทำ​ให้​สินค้า​หรือ​ภาพ​ลักษณ์​ของ​บริษัท​เสียหาย. ถ้า​พวก​เขา​ไม่​ชอบ​วิธี​การ​เสนอ​ข่าว​ของ​สื่อ​ใด​สื่อ​หนึ่ง พวก​เขา​ก็​จะ​หัน​ไป​ใช้​สื่อ​อื่น ๆ แทน. ดัง​นั้น พวก​บรรณาธิการ​จึง​อาจ​พยายาม​ปิด​ข่าว​ที่​ทำ​ให้​ภาพ​ลักษณ์​ของ​ผู้​สนับสนุน​รายการ​ออก​มา​ใน​แง่​ลบ.

  • ความ​ไม่​ซื่อ​สัตย์ ไม่​ใช่​นัก​ข่าว​ทุก​คน​จะ​รายงาน​ข่าว​อย่าง​ตรง​ไป​ตรง​มา. บาง​คน​ก็​สร้าง​เรื่อง​ขึ้น​เอง. ตัว​อย่าง​เช่น ไม่​กี่​ปี​มา​นี้​นัก​ข่าว​คน​หนึ่ง​ใน​ญี่ปุ่น​ต้องการ​ทำ​ข่าว​สารคดี​ว่า​ปะการัง​รอบ​เกาะ​โอกินาวา​กำลัง​ถูก​ทำลาย​โดย​ฝีมือ​ของ​นัก​ดำ​น้ำ. แต่​เมื่อ​ไม่​มี​หลักฐาน​ใด ๆ เขา​ก็​ทำลาย​ปะการัง​เสีย​เอง​แล้ว​ถ่าย​รูป​เก็บ​ไว้. ภาพ​ถ่าย​ก็​เป็น​เครื่อง​มือ​อีก​อย่าง​หนึ่ง​ที่​สื่อ​มัก​ใช้​เพื่อ​หลอก​ประชาชน​ให้​หลง​เชื่อ. เทคนิค​การ​แต่ง​ภาพ​ใน​สมัย​นี้​สามารถ​ทำ​ให้​ทุก​อย่าง​เป็น​ไป​ได้​และ​บาง​ครั้ง​ก็​แนบ​เนียน​จน​แทบ​ไม่​มี​ทาง​จับ​ได้.

  • การ​ปั่น​ข่าว แม้​ว่า​ข้อ​เท็จ​จริง​จะ​เป็น​เรื่อง​แน่นอน​ที่​ไม่​มี​ใคร​เปลี่ยน​แปลง​ได้ แต่​นัก​ข่าว​อาจ​เสนอ​เรื่อง​ราว​ได้​หลาย​วิธี​ตาม​ที่​เขา​ต้องการ. นัก​ข่าว​อาจ​เลือก​ว่า​จะ​นำ​เสนอ​หรือ​ปก​ปิด​ข้อ​เท็จ​จริง​อะไร. ตัว​อย่าง​เช่น ทีม​ฟุตบอล​ทีม​หนึ่ง​อาจ​แพ้​ทีม​คู่​แข่ง​ไป​สอง​ประตู. นี่​คือ​ข้อ​เท็จ​จริง. แต่​สาเหตุ​ที่​ทำ​ให้​ทีม​แพ้​การ​แข่งขัน​เป็น​เรื่อง​ที่​นัก​ข่าว​จะ​เขียน​ออก​มา​อย่าง​ไร​ก็​ได้.

  • การ​ตัด​ราย​ละเอียด ใน​การ​เรียบเรียง​ข้อ​เท็จ​จริง​เพื่อ​ทำ​ให้​ข่าว​ดู​น่า​สนใจ นัก​ข่าว​มัก​ตัด​ราย​ละเอียด​ที่​อาจ​ทำ​ให้​ผู้​อ่าน​สับสน​หรือ​กลาย​เป็น​ประเด็น​ที่​ค้าง​คา​ใจ. เมื่อ​เป็น​เช่น​นี้​ความ​จริง​บาง​ส่วน​จึง​ต้อง​ถูก​แต่ง​เติม​และ​บาง​ส่วน​ก็​ถูก​ตัด​ออก​ไป. บาง​ครั้ง​ผู้​ประกาศ​ข่าว​ทาง​โทรทัศน์​และ​นัก​ข่าว​ก็​ต้อง​รายงาน​ข่าว​ที่​มี​เนื้อหา​เยอะ​ใน​เวลา​เพียง​หนึ่ง​หรือ​สอง​นาที ราย​ละเอียด​สำคัญ​บาง​อย่าง​จึง​อาจ​ถูก​ตัด​ทิ้ง.

  • การ​แข่งขัน ไม่​กี่​สิบ​ปี​มา​นี้ มี​สถานี​โทรทัศน์​ใหม่ ๆ เกิด​ขึ้น​มาก​มาย​หลาย​ช่อง จึง​แทบ​ไม่​มี​ใคร​ติด​ตาม​รายการ​โทรทัศน์​เพียง​ช่อง​เดียว​อีก​ต่อ​ไป. เพื่อ​ดึง​ผู้​ชม​ไม่​ให้​หนี​ไป​ดู​ช่อง​อื่น สถานี​โทรทัศน์​ต่าง ๆ จึง​ต้อง​คิด​หา​วิธี​นำ​เสนอ​ข่าว​แบบ​แหวก​แนว​หรือ​สนุกสนาน​น่า​ติด​ตาม. หนังสือ​สื่อ​ลำเอียง (ภาษา​อังกฤษ) พูด​ถึง​แนว​โน้ม​เช่น​นี้​ว่า “ข่าว [โทรทัศน์] ใน​ทุก​วัน​นี้​มี​ภาพ​เต็ม​ไป​หมด​และ​ภาพ​ต่าง ๆ ที่​เลือก​มา​ก็​จงใจ​ทำ​ให้​ผู้​ชม​ตกตะลึง​หรือ​ตื่นเต้น เนื้อหา​ก็​ถูก​ตัด​ให้​สั้น​ลง​เพราะ​ผู้​ชม​สมัย​นี้​มี​ความ​สนใจ [สั้น​ลง​เรื่อย ๆ].”

  • ความ​ผิด​พลาด เพราะ​นัก​ข่าว​ก็​คือ​มนุษย์​ธรรมดา​คน​หนึ่ง พวก​เขา​จึง​อาจ​เสนอ​ข่าว​ผิด​พลาด​ได้​โดย​ไม่​ตั้งใจ. การ​สะกด​คำ​ผิด​หรือ​ใช้​เครื่องหมาย​วรรค​ตอน​และ​ไวยากรณ์​ไม่​ถูก​ต้อง​อาจ​ทำ​ให้​ความ​หมาย​ผิด​เพี้ยน​ไป​ได้. พวก​เขา​อาจ​ไม่​ได้​ตรวจ​สอบ​ข้อ​เท็จ​จริง​อย่าง​ละเอียด. ความ​ผิด​พลาด​เรื่อง​ตัว​เลข​เป็น​อีก​สิ่ง​หนึ่ง​ที่​เกิด​ขึ้น​ได้​บ่อย ๆ โดย​เฉพาะ​เมื่อ​นัก​ข่าว​ต้อง​รีบ​ส่ง​ต้น​ฉบับ​ให้​ทัน​เวลา เขา​อาจ​พิมพ์​ตัว​เลข​ผิด​จาก 100,000 เป็น 10,000.

  • การ​สันนิษฐาน​ผิด ๆ การ​รายงาน​ข่าว​อย่าง​ถูก​ต้อง​ไม่​ใช่​เรื่อง​ง่าย​อย่าง​ที่​บาง​คน​คิด. สิ่ง​ที่​ดู​เหมือน​เป็น​ความ​จริง​ใน​วัน​นี้​อาจ​ได้​รับ​การ​พิสูจน์​ว่า​ไม่​จริง​ใน​วัน​พรุ่ง​นี้. ตัว​อย่าง​เช่น ครั้ง​หนึ่ง​ผู้​คน​เคย​เชื่อ​กัน​ว่า​โลก​เป็น​ศูนย์กลาง​ของ​ระบบ​สุริยะ​จักรวาล. แต่​ตอน​นี้​เรา​รู้​ว่า​โลก​หมุน​รอบ​ดวง​อาทิตย์.

รู้​ทัน​สื่อ

นับ​ว่า​ฉลาด​ที่​จะ​ไม่​เชื่อ​ข้อมูล​ทุก​อย่าง​ใน​รายงาน​ข่าว แต่​ก็​ไม่​ได้​หมาย​ความ​ว่า​เรา​จะ​เชื่อ​อะไร​ไม่​ได้​เลย. เคล็ดลับ​คือ ขณะ​ที่​เปิด​ใจ​รับ​ฟัง​ข่าว เรา​ต้อง​ระวัง​เสมอ.

คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ว่า “หู​มี​สำหรับ​ฟัง​คำ​ไว้​ใคร่ครวญ, ดุจ​ปาก​มี​ไว้​สำหรับ​ชิม​ให้​รู้​รส​อาหาร​มิ​ใช่​หรือ?” (โยบ 12:11) ต่อ​ไป​นี้​เป็น​ข้อ​แนะ​บาง​อย่าง​ที่​จะ​ช่วย​เรา​ให้​ใคร่ครวญ​หรือ​วิเคราะห์​ข่าว​ที่​เรา​ได้​ยิน​และ​ได้​อ่าน:

  • แหล่ง​ข่าว: ข่าว​นั้น​มา​จาก​บุคคล​หรือ​องค์กร​ที่​น่า​เชื่อถือ​และ​เป็น​ผู้​มี​อำนาจ​หน้า​ที่​โดย​ตรง​ไหม? รายการ​วิทยุ​โทรทัศน์​หรือ​สิ่ง​พิมพ์​นั้น​เป็น​ที่​รู้​จัก​ว่า​เสนอ​ข่าว​อย่าง​ตรง​ไป​ตรง​มา​หรือ​ชอบ​สร้าง​ข่าว​ให้​ดู​น่า​ตื่นเต้น​เร้า​ใจ? แหล่ง​ข่าว​นั้น​ได้​เงิน​สนับสนุน​จาก​ที่​ไหน?

  • แหล่ง​ข้อมูล: มี​หลักฐาน​ที่​เชื่อถือ​ได้​ไหม​ว่า​ผู้​ที่​เป็น​แหล่ง​ข่าว​ได้​ค้นคว้า​ข้อมูล​มา​ดี​แล้ว? ข้อมูล​ทั้ง​หมด​มา​จาก​แหล่ง​เดียว​เท่า​นั้น​ไหม? แหล่ง​ข้อมูล​มี​ความ​น่า​เชื่อถือ ไม่​ลำเอียง และ​เป็น​ความ​จริง​ไหม? แหล่ง​ข้อมูล​ที่​อ้าง​ถึง​มี​ความ​เป็น​กลาง​ไหม หรือ​ถูก​หยิบ​ยก​มา​เพื่อ​สนับสนุน​ความ​คิด​เห็น​ของ​ใคร​คน​หนึ่ง​เท่า​นั้น?

  • จุด​ประสงค์: ถาม​ตัว​เอง​ว่า ‘ข่าว​นี้​มี​จุด​ประสงค์​เพื่อ​ให้​ข้อมูล​ที่​เป็น​สาระ​หรือ​เพื่อ​ความ​บันเทิง? ข่าว​นี้​ต้องการ​ขาย​สินค้า​หรือ​สนับสนุน​อะไร​บาง​อย่าง​ไหม?’

  • อารมณ์​ของ​ข่าว: ถ้า​อารมณ์​ของ​ข่าว​ออก​มา​ใน​แนว​โกรธ​แค้น ตำหนิ หรือ​วิพากษ์วิจารณ์​อย่าง​รุนแรง นั่น​อาจ​บ่ง​ชี้​ว่า​ผู้​เขียน​กำลัง​โจมตี​ฝ่าย​ใด​ฝ่าย​หนึ่ง​และ​ไม่​ได้​นำ​เสนอ​ข่าว​โดย​อาศัย​เหตุ​ผล.

  • ความ​สอดคล้อง: ราย​ละเอียด​ของ​ข่าว​สอดคล้อง​กับ​บทความ​หรือ​รายงาน​เรื่อง​เดียว​กัน​ใน​สิ่ง​พิมพ์​อื่น ๆ ไหม? ถ้า​ขัด​แย้ง ก็​ต้อง​ระวัง!

  • อายุ​ของ​ข่าว: ข้อมูล​ใน​ข่าว​นั้น​ใหม่​หรือ​เก่า? ข้อมูล​ที่​ถูก​ต้อง​เมื่อ 20 ปี​ที่​แล้ว​อาจ​ไม่​ตรง​กับ​ความ​เป็น​จริง​ใน​เวลา​นี้. แต่​ใน​อีก​ด้าน​หนึ่ง ถ้า​เรื่อง​เพิ่ง​เกิด​ขึ้น​สด ๆ ร้อน ๆ ข้อมูล​ที่​เสนอ​ใน​ข่าว​อาจ​ยัง​ไม่​ครบ​ถ้วน​และ​ยัง​ไม่​ได้​ข้อ​สรุป​ที่​ชัดเจน.

ดัง​นั้น คุณ​จะ​ไว้​ใจ​สื่อ​ได้​แค่​ไหน? กษัตริย์​โซโลมอน​ผู้​ชาญ​ฉลาด​ให้​คำ​แนะ​นำ​ไว้​ดัง​นี้: “คน​โง่​เชื่อ​คำ​บอก​เล่า​ทุก​คำ; แต่​คน​ฉลาด​ย่อม​มอง​ดู​ทาง​เดิน​ของ​เขา​ด้วย​ความ​ระวัง.”—สุภาษิต 14:15