ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จาก​ปก: เรา​ซื้อ​มาก​ไป​ไหม?

ทำไมเราจึงซื้อ?

ทำไมเราจึงซื้อ?

จาก​การ​สำรวจ​ความ​เห็น​ผู้​ซื้อ​ทั่ว​โลก​เมื่อ​ปี 2012 ครึ่ง​หนึ่ง​ของ​ผู้​ตอบ​คำ​ถาม​ยอม​รับ​ว่า​พวก​เขา​ซื้อ​สินค้า​ที่​ตน​เอง​ไม่​ได้​ต้องการ​จริง ๆ. สอง​ใน​สาม​คน​เป็น​ห่วง​ว่า​ผู้​บริโภค​ทุก​วัน​นี้​ซื้อ​ของ​มาก​เกิน​ไป. ความ​วิตก​กังวล​เช่น​นั้น​อาจ​ดู​มี​เหตุ​ผล. ผู้​ซื้อ​จำนวน​มาก​กลาย​เป็น​คน​ที่​มี​หนี้สิน​ท่วม​ตัว. นัก​วิจัย​บอก​ว่า​การ​ซื้อ​ของ​มาก ๆ แทน​ที่​จะ​ทำ​ให้​เรา​มี​ความ​อิ่ม​ใจ​พอ​ใจ​กลับ​ทำ​ให้​เรา​เครียด​มาก​ขึ้น​และ​ไม่​มี​ความ​สุข! แล้ว​ทำไม​เรา​จึง​ซื้อ​มาก​เหลือ​เกิน?

ใน​ฐานะ​ผู้​บริโภค เรา​กลาย​เป็น​เหยื่อ​ของ​นัก​การ​ตลาด​ที่​พยายาม​ใช้​กลยุทธ์​สารพัด​รูป​แบบ. พวก​เขา​มี​เป้าหมาย​อะไร? ก็​เพื่อ​ทำ​ให้​สิ่ง​ที่​เรา​อยาก​ได้​กลาย​เป็น​สิ่ง​ที่​ขาด​ไม่​ได้. นัก​การ​ตลาด​รู้​ว่า​พฤติกรรม​ของ​ผู้​บริโภค​ส่วน​ใหญ่​เกิด​จาก​อารมณ์​ความ​รู้สึก. ดัง​นั้น พวก​เขา​จึง​พยายาม​ออก​แบบ​โฆษณา​และ​แหล่ง​ชอปปิง​ให้​ดู​น่า​ตื่น​ตา​ตื่น​ใจ​มาก​ที่​สุด.

หนังสือ Why People Buy Things They Don’t Need กล่าว​ว่า “เมื่อ​วาง​แผน​ซื้อ​ของ​ชิ้น​ใหม่ ผู้​ซื้อ​มัก​จะ​นึก​ภาพ​ตัว​เอง​กำลัง​หา​ซื้อ​ของ​ชิ้น​นั้น​อย่าง​มี​ความ​สุข และ​จินตนาการ​ไป​ไกล​ถึง​ตอน​ที่​ได้​เป็น​เจ้าของ​ด้วย​ซ้ำ.” ผู้​เชี่ยวชาญ​บาง​คน​คิด​ว่า​สาเหตุ​ที่​ผู้​ซื้อ​เกิด​ความ​รู้สึก​ตื่นเต้น​มาก​ขณะ​ที่​เลือก​ซื้อ​สินค้า​เนื่อง​จาก​ใน​ตอน​นั้น​ร่าง​กาย​หลั่ง​สาร​อะดรีนาลิน​ออก​มา. จิม พูเลอร์ ผู้​เชี่ยวชาญ​ด้าน​การ​ตลาด​อธิบาย​ว่า “ถ้า​ผู้​ขาย​จับ​ความ​รู้สึก​ของ​ผู้​ซื้อ​ได้ เขา​ก็​สามารถ​ฉวย​ประโยชน์​จาก​ความ​ตื่นเต้น​ของ​ผู้​ซื้อ​ที่​ไม่​ทัน​ระวัง​ตัว.”

คุณ​จะ​ป้องกัน​ตัว​ไม่​ให้​ตก​เป็น​เหยื่อ​นัก​การ​ตลาด​หัว​ใส​ได้​อย่าง​ไร? คุณ​ต้อง​ตัด​อารมณ์​ความ​รู้สึก​ออก​ไป​ก่อน แล้ว​เปรียบ​เทียบ​คำ​โฆษณา​แต่​ละ​อย่าง​ตาม​ความ​เป็น​จริง.

คำ​โฆษณา: “เพื่อ​คุณภาพ​ชีวิต​ที่​ดี​กว่า”

ใคร ๆ ก็​อยาก​มี​ชีวิต​ความ​เป็น​อยู่​ที่​ดี​ขึ้น. นัก​โฆษณา​พยายาม​กรอก​หู​เรา​ว่า ถ้า​เรา​ซื้อ​ของ​ที่​เหมาะ​กับ​เรา ทุก​ความ​ต้องการ​ของ​เรา​ย่อม​เป็น​ไป​ได้ ไม่​ว่า​จะ​เป็น​สุขภาพ​ที่​ดี​ขึ้น ความ​มั่นคง​ปลอด​ภัย ความ​สบาย​ใจ หรือ​ความ​สัมพันธ์​ที่​แน่นแฟ้น​กับ​คน​ที่​เรา​รัก.

ความ​เป็น​จริง:

ยิ่ง​เรา​มี​ข้าวของ​มาก​ขึ้น คุณภาพ​ชีวิต​ของ​เรา​ก็​จะ​ยิ่ง​ลด​ลง. เรา​ต้อง​ใช้​เวลา​และ​เงิน​ทอง​มาก​ขึ้น​เพื่อ​ดู​แล​ข้าวของ​เหล่า​นั้น. ความ​เครียด​ก็​เพิ่ม​ขึ้น​เพราะ​หนี้สิน​พอก​พูน และ​เวลา​ที่​ให้​กับ​ครอบครัว​หรือ​เพื่อน​ฝูง​ก็​น้อย​ลง.

ยิ่ง​เรา​มี​ข้าวของ​มาก​ขึ้น คุณภาพ​ชีวิต​ของ​เรา​ก็​จะ​ยิ่ง​ลด​ลง

หลัก​คิด: “แม้​ว่า​คน​เรา​มี​อย่าง​บริบูรณ์ แต่​ชีวิต​ของ​เขา​ก็​ไม่​ได้​ขึ้น​อยู่​กับ​สิ่ง​ที่​เขา​มี.”—ลูกา 12:15

คำ​โฆษณา: “เอก​สิทธิ์​เหนือ​ระดับ”

มี​น้อย​คน​ที่​จะ​ยอม​รับ​ว่า​พวก​เขา​ซื้อ​ของ​บาง​อย่าง​เพราะ​ต้องการ​สร้าง​ภาพ​ให้​คน​อื่น​ประทับใจ. อย่าง​ไร​ก็​ตาม จิม พูเลอร์​กล่าว​ว่า “เหตุ​ผล​สำคัญ​อย่าง​หนึ่ง​ที่​คน​เรา​ซื้อ​ของ​ก็​เพราะ​ต้องการ​แข่ง​กับ​เพื่อน​ฝูง เพื่อน​บ้าน เพื่อน​ร่วม​งาน และ​ญาติ ๆ.” สื่อ​โฆษณา​จึง​มัก​จะ​แสดง​ภาพ​คน​ที่​ประสบ​ความ​สำเร็จ​หรือ​มี​ฐานะ​ร่ำรวย​กำลัง​ใช้​สินค้า​นั้น. โฆษณา​ต้องการ​สื่อ​ให้​ผู้​บริโภค​รู้​ว่า “คุณ​ก็​มี​ชีวิต​แบบ​นี้​ได้!”

ความ​เป็น​จริง:

ถ้า​เรา​ประเมิน​ค่า​ตัว​เอง​ด้วย​การ​เปรียบ​เทียบ​กับ​คน​อื่น เรา​ก็​ตก​เข้า​สู่​วัง​วน​ของ​ความ​ไม่​รู้​จัก​พอ. เมื่อ​ได้​สิ่ง​ที่​ต้องการ​มา​แล้ว คน​เรา​ก็​จะ​อยาก​ได้​สิ่ง​อื่น​ที่​ดี​กว่า​หรือ​ใหม่​กว่า​ไป​เรื่อย ๆ ไม่​จบ​สิ้น.

หลัก​คิด: “คน​รัก​เงิน, ไม่​อิ่ม​ด้วย​เงิน.”ท่าน​ผู้​ประกาศ 5:10

คำ​โฆษณา: “บ่ง​บอก​ความ​เป็น​ตัว​คุณ”

หนังสือ Shiny Objects กล่าว​ว่า “วิธี​ง่าย ๆ ที่​จะ​บอก​ให้​คน​อื่น​รู้​ว่า​เรา​เป็น​คน​แบบ​ไหน (หรือ​อยาก​เป็น​แบบ​ไหน) ก็​โดย​ทาง​สิ่ง​ของ​ที่​เรา​ใช้​หรือ​พก​พา.” นัก​การ​ตลาด​รู้​ข้อ​เท็จ​จริง​นี้​และ​พยายาม​เชื่อม​โยง​ยี่ห้อ​สินค้า​โดย​เฉพาะ​สินค้า​แบรนด์เนม​เข้า​กับ​รูป​แบบ​ชีวิต​และ​ค่า​นิยม​แบบ​ใด​แบบ​หนึ่ง.

คุณ​มอง​ดู​ตัว​เอง​อย่าง​ไร และ​คุณ​อยาก​ให้​คน​อื่น​มอง​คุณ​อย่าง​ไร? มอง​ว่า​คุณ​เป็น​คน​ดู​ดี​มี​สไตล์​ไหม? มี​บุคลิก​แบบ​นัก​กีฬา​ไหม? ไม่​ว่า​คุณ​อยาก​สร้าง​ภาพ​ให้​ตัว​เอง​เป็น​แบบ​ไหน เพียง​แค่​ซื้อ​สินค้า​ยี่ห้อ​นั้น คุณ​ก็​จะ​ได้​เป็น​อย่าง​ที่​อยาก​เป็น.

ความ​เป็น​จริง:

ไม่​มี​สินค้า​ชนิด​ใด​ที่​ซื้อ​แล้ว​จะ​สามารถ​เปลี่ยน​ตัว​ตน​ที่​แท้​จริง​ของ​เรา​หรือ​ทำ​ให้​เรา​มี​คุณสมบัติ​ที่​น่า​ยกย่อง​ได้ เช่น เป็น​คน​ซื่อ​สัตย์​และ​ภักดี.

หลัก​คิด: “อย่า​ให้​การ​ประดับ​ตัว​ของ​ท่าน​ทั้ง​หลาย​เป็น​การ​ประดับ​ภาย​นอก​ด้วย . . . เครื่อง​ประดับ​ที่​ทำ​ด้วย​ทอง หรือ​สวม​เสื้อ​คลุม แต่​ให้​ประดับ​ด้วย​ตัว​ตน​ที่​อยู่​ใน​ใจ.”1 เปโตร 3:3, 4