ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

กอบกู้อัญมณีโบราณจากกองขยะ

กอบกู้อัญมณีโบราณจากกองขยะ

เมื่อพูดถึงกองขยะคุณคิดถึงอะไร? คุณคงคิดถึงกลิ่นเหม็นและมีแต่ของที่ทิ้งแล้ว คุณคงคิดว่าไม่มีทางที่จะเจอของมีค่าอย่างอัญมณีแน่ ๆ

แต่เมื่อร้อยปีที่แล้วมีการค้นพบสมบัติที่ล้ำค่าในกองขยะ สมบัติที่ว่านี้ถึงจะไม่ใช่อัญมณีจริง ๆ แต่ก็มีค่ามากมายมหาศาล สมบัติอะไรที่ถูกค้นพบ? แล้วทำไมการค้นพบนี้ถึงสำคัญสำหรับเราในปัจจุบัน?

การค้นพบที่คาดไม่ถึง

ตอนต้นศตวรรษที่ 20 ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดสองคนคือเบอร์นาร์ด พี. เกร็นเฟ็ลล์กับอาร์เทอร์ เอส. ฮันต์เดินทางไปอียิปต์และในท่ามกลางกองขยะใกล้ลุ่มแม่น้ำไนล์ พวกเขาได้ค้นพบชิ้นส่วนพาไพรัสจำนวนหนึ่ง ต่อมาในปี 1920 ขณะที่ทั้งสองคนนี้กำลังยุ่งอยู่กับการจัดเรียงรายการสิ่งต่าง ๆ ที่พวกเขาค้นพบ เกร็นเฟ็ลล์ก็ได้รับชิ้นส่วนเพิ่มเติมที่ได้ขุดค้นพบในอียิปต์ในนามของหอสมุดจอห์น ไรแลนส์ที่อยู่ในเมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ อย่างไรก็ตาม ทั้งสองคนตายก่อนที่การจัดเรียงรายการต่าง ๆ จะเสร็จ

คอลิน เอ็ช. โรเบิตส์ผู้เชี่ยวชาญอีกคนของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดเป็นผู้รับช่วงต่อและทำงานจนสำเร็จ ขณะที่เขากำลังจัดประเภทของชิ้นส่วนพาไพรัสอยู่นั้น เขาก็สังเกตเห็นเศษเล็ก ๆ ของพาไพรัสขนาด 9 × 6 ซม. สิ่งที่ทำให้เขาถึงกับตะลึงก็คือ มีข้อความที่เขาคุ้น ๆ บันทึกในเศษพาไพรัสนี้ ข้อความด้านหนึ่งนั้นมาจากโยฮัน 18:31-33 ส่วนอีกด้านเป็นข้อความบางส่วนจากข้อ 37 และ 38 โรเบิตส์รู้ว่าเขาได้พบอัญมณีที่ล้ำค่าโดยบังเอิญแล้ว

ตรวจสอบอายุ

โรเบิตส์คาดว่าเศษพาไพรัสนี้คงจะเก่ามาก ๆ แต่เก่าขนาดไหน? เพื่อหาคำตอบเขาจึงเปรียบเทียบลายมือที่เขียนในชิ้นส่วนพาไพรัสนั้นกับสำเนาที่คัดลอกด้วยลายมือโบราณอื่น ๆ ซึ่งนี่เป็นวิธีศึกษาอักขระโบราณ * โดยวิธีนี้เขาสามารถระบุเวลาที่ใกล้เคียงได้ แต่เพื่อให้แน่ใจเขาจึงถ่ายรูปเศษชิ้นส่วนพาไพรัสนี้ส่งไปให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสำเนาพาไพรัสสามคนเพื่อให้เขาช่วยกะประมาณอายุ ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ให้ข้อสรุปอย่างไร?

โดยตรวจดูวิธีการเขียนและลายเส้น ผู้เชี่ยวชาญทั้งสามคนมีความเห็นตรงกันว่าชิ้นส่วนพาไพรัสนี้ถูกเขียนในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่สอง ซึ่งก็คือไม่กี่สิบปีหลังจากที่อัครสาวกโยฮันตาย! แต่ถึงอย่างนั้นการระบุเวลาของผู้เชี่ยวชาญด้านสำเนาพาไพรัสก็ไม่ถึงกับแน่นอนเสมอไป ผู้เชี่ยวชาญคนอื่นเชื่อว่าสำเนานี้อาจเขียนขึ้นช่วงเวลาไหนก็ได้ในศตวรรษที่สอง ไม่ว่าจะอย่างไร เศษชิ้นส่วนเล็ก ๆ ของพาไพรัสนี้ก็ยังเป็นสำเนาที่เก่าแก่ที่สุดของคัมภีร์ไบเบิลภาคภาษากรีกที่มีการค้นพบ

ชิ้นส่วนพาไพรัสของไรแลนส์เปิดเผยอะไร?

ทำไมสำเนาที่บันทึกหนังสือกิตติคุณของโยฮันจึงสำคัญมากสำหรับคนที่รักคัมภีร์ไบเบิลในทุกวันนี้? มีเหตุผลอย่างน้อย 2 ข้อ ข้อแรก วิธีการทำสำเนาทำให้เรารู้ว่าคริสเตียนยุคแรกรักและให้ความสำคัญกับคัมภีร์ไบเบิลมากขนาดไหน

ทำไมสำเนาหนังสือกิตติคุณของโยฮันจึงสำคัญมากสำหรับคนที่รักคัมภีร์ไบเบิลในทุกวันนี้?

ในศตวรรษที่สองมีการเขียนสองแบบคือ เป็นม้วนหนังสือกับโคเดกซ์ ม้วนหนังสือจะมีแผ่นพาไพรัสหรือแผ่นหนังหลายแผ่นเย็บติดกันเพื่อให้เป็นแผ่นใหญ่ ๆ แผ่นเดียว แผ่นนี้จึงสามารถม้วนเก็บได้ตามต้องการ ส่วนใหญ่แล้วจะมีการเขียนม้วนหนังสือนี้แค่ด้านเดียว

แต่เศษเล็ก ๆ ที่โรเบิตส์เจอนั้นมีการเขียนทั้งสองด้าน นี่แสดงให้เห็นว่าเศษชิ้นส่วนนี้น่าจะมาจากโคเดกซ์ไม่ใช่จากม้วนหนังสือ โคเดกซ์จะทำจากแผ่นหนังหรือแผ่นพาไพรัสที่เย็บเข้าด้วยกันแล้วพับเป็นรูปเล่มคล้าย ๆ กับหนังสือ

โคเดกซ์ดีกว่าม้วนหนังสืออย่างไร? เนื่องจากคริสเตียนยุคแรกเป็นผู้ประกาศข่าวดี (มัดธาย 24:14; 28:19, 20) พวกเขาประกาศข่าวสารจากคัมภีร์ไบเบิลกับผู้คนทุกหนแห่ง ทั้งตามบ้าน ในตลาด หรือบนถนน (กิจการ 5:42; 17:17; 20:20) ดังนั้น การมีคัมภีร์ไบเบิลที่พับแล้วเย็บติดกันแบบนี้คงจะใช้ได้ง่ายกว่ามาก

โคเดกซ์ยังทำให้ประชาคมหรือใคร ๆ ที่ต้องการจะคัดลอกสำเนาคัมภีร์ไบเบิลทำได้ง่ายขึ้น และการที่หนังสือกิตติคุณได้รับการคัดลอกสำเนาซ้ำแล้วซ้ำอีกคงมีส่วนทำให้คริสเตียนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วแน่ ๆ

ชิ้นส่วนของไรแลนส์ส่วนหน้าและหลัง

เหตุผลข้อที่สองที่ทำให้สำเนาของไรแลนส์สำคัญสำหรับเราในทุกวันนี้ก็คือ ทำให้เราเห็นว่าการคัดลอกสำเนาข้อความในคัมภีร์ไบเบิลนั้นถูกต้อง แม้สำเนานั้นจะมีข้อความจากกิตติคุณโยฮันเพียงไม่กี่ข้อ แต่ข้อความเกือบทั้งหมดนั้นตรงกับคัมภีร์ไบเบิลที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน สำเนาของไรแลนส์แสดงว่าคัมภีร์ไบเบิลไม่ได้ถูกเปลี่ยนแม้จะมีการคัดลอกสำเนาซ้ำแล้วซ้ำอีกก็ตาม

แน่นอนว่า ชิ้นส่วนของไรแลนส์ที่เป็นกิตติคุณของโยฮันเป็นหนึ่งในหลักฐานหลายพันชิ้นที่แสดงให้เห็นว่าคัมภีร์ไบเบิลที่ได้รับการแปลมาจากต้นฉบับเชื่อถือได้ หนังสือคัมภีร์ไบเบิลกับประวัติศาสตร์ (ภาษาอังกฤษ) ของเวอร์เนอร์ เคลเลอร์ สรุปว่า “สำเนาคัมภีร์ไบเบิลที่เก่าแก่นี้ เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ดีที่สุดว่าคัมภีร์ไบเบิลที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันไม่มีการปรับเปลี่ยนแก้ไขแต่อย่างใดและเชื่อถือได้”

ที่จริง ความเชื่อของคริสเตียนไม่ได้ขึ้นอยู่กับการค้นพบทางโบราณคดี พวกเขาเชื่อว่า “พระคัมภีร์ทุกตอนมีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้า” (2 ติโมเธียว 3:16) ถึงอย่างนั้น การค้นพบอัญมณีที่มีค่าจากอดีตก็ช่วยให้เรามั่นใจว่า “คำตรัสของพระยะโฮวาดำรงอยู่เป็นนิตย์”—1 เปโตร 1:25

^ วรรค 8 ตามที่หนังสือสำเนาของพระคัมภีร์ภาคภาษากรีก บอกไว้ อักขระโบราณ “เป็นวิทยาศาสตร์สาขาหนึ่งที่ศึกษาเกี่ยวกับการเขียนในสมัยโบราณ” เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปวิธีการเขียนก็เปลี่ยนไปด้วย การเปลี่ยนแปลงนี้ช่วยให้รู้อายุของสำเนาต่าง ๆ โดยเอามาเทียบกับเอกสารที่ระบุวันเดือนปีที่แน่นอน