ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ใครมีดินสอบ้าง?

ใครมีดินสอบ้าง?

ใคร​มี​ดินสอ​บ้าง?

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​บริเตน

มัน​ราคา​ไม่​แพง, ใช้​งาน​ได้​ทันที, และ​มี​น้ำหนัก​เบา. มัน​เสียบ​ใส่​ใน​กระเป๋า​เสื้อ​ได้​สบาย ๆ. มัน​ไม่​ต้อง​ใช้​ไฟฟ้า, ไม่​เคย​รั่ว​ซึม​ออก​มา, และ​รอย​ขีด​ของ​มัน​ก็​ลบ​ออก​ได้. เด็ก ๆ ใช้​มัน​หัด​เขียน​หนังสือ, จิตรกร​ที่​มี​ชื่อเสียง​ก็​สร้าง​ผล​งาน​ชิ้น​เอก​ได้​โดย​ใช้​มัน, และ​พวก​เรา​ส่วน​ใหญ่​ก็​มี​มัน​ไว้​ใกล้​มือ​เพื่อ​จด​บันทึก. ใช่​แล้ว ดินสอ​ธรรมดา ๆ นี่​แหละ​คือ​เครื่อง​เขียน​อย่าง​หนึ่ง​ที่​สามารถ​ซื้อ​ได้​ง่าย​ที่​สุด​และ​ใช้​กัน​อย่าง​แพร่​หลาย​ทั่ว​โลก. เรื่อง​ราว​ที่​น่า​ทึ่ง​ของ​การ​ประดิษฐ์​และ​พัฒนาการ​ของ​ดินสอ​เริ่ม​ต้น​จาก​การ​ค้น​พบ​โดย​บังเอิญ​ใน​เขต​ชนบท​ของ​อังกฤษ.

ตะกั่ว​สี​ดำ

ใน​ศตวรรษ​ที่ 16 มี​การ​ค้น​พบ​ก้อน​แร่​สี​ดำ​แปลก ๆ ใต้​เนิน​เขา​บอร์​โรว์​เดล ซึ่ง​เป็น​หุบเขา​ที่​อยู่​ใน​เขต​เลก ดิสทริก​ทาง​ภาค​เหนือ​ของ​อังกฤษ. แม้​แร่​ชนิด​นี้​ดู​คล้าย​ถ่าน​หิน​แต่​มัน​ไม่​ติด​ไฟ และ​เมื่อ​นำ​ไป​ขีด​บน​พื้น​ผิว​ก็​เกิด​รอย​สี​ดำ​เป็น​เงา​และ​สามารถ​ลบ​ออก​อย่าง​ง่าย​ดาย. ใน​ตอน​แรก​มี​การ​ตั้ง​ชื่อ​แร่​ชนิด​นี้​ไว้​หลาย​ชื่อ เช่น ตะกั่ว​ดำ, ว็อด, และ​พลัมเบโก​ซึ่ง​มี​ความ​หมาย​ว่า “สิ่ง​ที่​คล้าย​ตะกั่ว.” เนื่อง​จาก​เนื้อ​แร่​ชนิด​นี้​มี​ลักษณะ​ลื่น​มือ ผู้​คน​จึง​เอา​หนัง​แกะ​ห่อ​ก้อน​แร่​หรือ​ใช้​เชือก​ป่าน​พัน​รอบ​แท่ง​แร่​สั้น ๆ. ไม่​เป็น​ที่​ทราบ​ว่า​ใคร​เป็น​คน​แรก​ที่​คิด​ถึง​การ​นำ​ตะกั่ว​ดำ​ไป​ใส่​ไว้​ใน​แท่ง​ไม้ แต่​พอ​ถึง​ทศวรรษ 1560 ดินสอ​ใน​ยุค​แรก ๆ ก็​แพร่​หลาย​ไป​ถึง​ทวีป​ยุโรป​แล้ว.

หลัง​จาก​นั้น​ไม่​นาน​ก็​มี​การ​ทำ​เหมือง​ตะกั่ว​ดำ​และ​ส่ง​ออก​นอก​ประเทศ​ตาม​ความ​ต้องการ​ของ​เหล่า​จิตรกร และ​ใน​ศตวรรษ​ที่ 17 การ​ใช้​ตะกั่ว​ดำ​ก็​แพร่​หลาย​ไป​ทั่ว​ทุก​แห่ง. ใน​ขณะ​เดียว​กัน ผู้​ผลิต​ดินสอ​ได้​นำ​ตะกั่ว​ดำ​ไป​ทดลอง​เพื่อ​หา​วิธี​ผลิต​เครื่อง​เขียน​ที่​ดี​ขึ้น. ตะกั่ว​ดำ​ที่​บริสุทธิ์​และ​สกัด​ได้​ง่าย​จาก​เมือง​บอร์​โรว์​เดล​ตก​เป็น​เป้า​ของ​บรรดา​หัวขโมย​และ​พ่อค้า​ตลาด​มืด. ด้วย​เหตุ​นี้ รัฐสภา​อังกฤษ​จึง​ได้​ออก​กฎหมาย​ใน​ปี 1752 ว่า ผู้​ที่​ขโมย​แร่​นี้​จะ​มี​โทษ​จำ​คุก​หรือ​ไม่​ก็​ถูก​เนรเทศ​ไป​ยัง​อาณานิคม​ที่​ห่าง​ไกล.

ใน​ปี 1779 คาร์ล ดับเบิลยู. เชเลอ นัก​เคมี​ชาว​สวีเดน​ได้​ค้น​พบ​เรื่อง​น่า​ประหลาด​ใจ​ว่า ตะกั่ว​ดำ​ไม่​ใช่​แร่​ตะกั่ว​เลย แต่​เป็น​คาร์บอน​บริสุทธิ์​ชนิด​อ่อน. สิบ​ปี​ต่อ​มา อับราฮัม จี. เวอร์เนอร์ นัก​ธรณี​วิทยา​ชาว​เยอรมัน​ได้​ตั้ง​ชื่อ​แร่​นี้​ว่า แกรไฟต์ (แร่​ดินสอ​ดำ) ซึ่ง​มา​จาก​คำ​ภาษา​กรีก​กราฟิน แปล​ว่า “เขียน.” ที่​จริง​แล้ว ไส้​ดินสอ​ที่​เคย​คิด​ว่า​เป็น​ตะกั่ว​นั้น​ไม่​ได้​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ตะกั่ว​เลย​แม้​แต่​น้อย!

พัฒนาการ​ของ​ดินสอ

เป็น​เวลา​หลาย​ปี​ที่​แกรไฟต์​ของ​อังกฤษ​ได้​ผูก​ขาด​อุตสาหกรรม​การ​ทำ​ดินสอ​เพราะ​แกรไฟต์​ที่​นี่​บริสุทธิ์​พอ​ที่​จะ​ทำ​ไส้​ดินสอ​ได้​โดย​ไม่​ต้อง​ผ่าน​กรรมวิธี​อะไร​เพิ่ม​เติม​อีก. เนื่อง​จาก​แกรไฟต์​ของ​ยุโรป​มี​คุณภาพ​ด้อย​กว่า ผู้​ผลิต​ดินสอ​ใน​ยุโรป​จึง​ทำ​การ​ทดลอง​เพื่อ​หา​วิธี​ปรับ​ปรุง​คุณภาพ​ของ​ไส้​ดินสอ. นิโกลา-ชากส์ กองเต วิศวกร​ชาว​ฝรั่งเศส​ได้​ผสม​ผง​แกรไฟต์​กับ​ดิน​เหนียว, ปั้น​สาร​ผสม​ที่​ได้​เป็น​แท่ง ๆ, และ​เผา​ใน​เตา​เผา. โดย​ผสม​ผง​แกรไฟต์​กับ​ดิน​เหนียว​ใน​อัตรา​ส่วน​ต่าง ๆ กัน เขา​สามารถ​ทำ​ไส้​ดินสอ​ที่​มี​สี​ดำ​หลาย​เฉด​สี—ซึ่ง​วิธี​การ​ของ​เขา​ยัง​คง​ใช้​จน​ถึง​ทุก​วัน​นี้. กองเต​จด​สิทธิ​บัตร​การ​ค้น​พบ​ของ​เขา​ใน​ปี 1795.

ใน​ศตวรรษ​ที่ 19 การ​ผลิต​ดินสอ​ได้​กลาย​เป็น​ธุรกิจ​ใหญ่. มี​การ​ค้น​พบ​แกรไฟต์​หลาย​แห่ง​รวม​ถึง​ไซบีเรีย, เยอรมนี, และ​ใน​ประเทศ​ซึ่ง​ปัจจุบัน​คือ​สาธารณรัฐ​เช็ก. มี​การ​เปิด​โรง​งาน​ผลิต​ดินสอ​หลาย​แห่ง​ใน​เยอรมนี​และ​ต่อ​มา​ก็​ใน​สหรัฐ. การ​ใช้​เครื่องจักร​และ​การ​ผลิต​จำนวน​มาก​ทำ​ให้​ดินสอ​มี​ราคา​ถูก​ลง และ​พอ​เริ่ม​ศตวรรษ​ที่ 20 แม้​แต่​เด็ก​นัก​เรียน​ก็​ใช้​ดินสอ​กัน.

ดินสอ​ใน​ปัจจุบัน

เนื่อง​จาก​มี​การ​ผลิต​ดินสอ​หลาย​พัน​ล้าน​แท่ง​ตลอด​ทั่ว​โลก​ใน​แต่​ละ​ปี ดินสอ​จึง​กลาย​เป็น​อุปกรณ์​สำหรับ​การ​วาด​ภาพ​และ​การ​เขียน​ที่​ใช้​ได้​อเนก​ประสงค์​และ​ดี. ดินสอ​ไม้​ธรรมดา ๆ สามารถ​ลาก​เส้น​ได้​ยาว​ถึง 56 กิโลเมตร​และ​เขียน​ได้ 45,000 คำ. ดินสอ​กด​ที่​ทำ​จาก​โลหะ​หรือ​พลาสติก​ใช้​ไส้​ดินสอ​ที่​ผอม​บาง​ซึ่ง​ไม่​จำเป็น​ต้อง​เหลา​ให้​แหลม. ส่วน​ดินสอ​สี​ก็​มี​การ​ใช้​สี​ย้อม​และ​สาร​สี​แทน​แกรไฟต์​ซึ่ง​ทำ​ให้​เกิด​สี​สัน​อีก​มาก​มาย.

เนื่อง​จาก​ใช้​ได้​อเนก​ประสงค์, แข็งแรง​ทนทาน, ใช้​ง่าย, และ​มี​ประสิทธิภาพ ดินสอ​ธรรมดา ๆ จึง​ไม่​มี​ที​ท่า​ว่า​จะ​ล้า​สมัย. ฉะนั้น ใน​อนาคต​ข้าง​หน้า ไม่​ว่า​จะ​เป็น​ที่​บ้าน​หรือ​ที่​ทำ​งาน คุณ​อาจ​ยัง​คง​ได้​ยิน​บาง​คน​ถาม​ว่า “ใคร​มี​ดิน​สอ​บ้าง?”

[กรอบ/ภาพ​หน้า 13]

ไส้​ดินสอ​เข้า​ไป​อยู่​ใน​แท่ง​ดินสอ​ได้​อย่าง​ไร?

สารละลาย​ที่​มี​ส่วน​ผสม​ของ​ผง​แกรไฟต์​บด​ละเอียด, ดิน​เหนียว, และ​น้ำ​จะ​ถูก​เท​ใส่​เข้า​ไป​ใน​กระบอก​โลหะ​แคบ ๆ และ​อัด​ออก​มา​เป็น​แท่ง​ยาว​คล้าย​เส้น​สปาเกตตี​เล็ก ๆ. หลัง​จาก​นำ​ไป​อบ​แห้ง, ตัด, และ​เผา​ใน​เตา​เผา​แล้ว แท่ง​ไส้​ดินสอ​จะ​ถูก​นำ​ไป​จุ่ม​ใน​น้ำมัน​และ​ขี้ผึ้ง​ร้อน. ตาม​ปกติ​แล้ว มี​การ​นำ​ไม้​สน​ซีดาร์​ที่​เหลา​ได้​ง่าย​มา​เลื่อย​เป็น​แผ่น ๆ โดย​มี​ความ​หนา​เพียง​ครึ่ง​หนึ่ง​ของ​ความ​หนา​ของ​ดินสอ ทำ​ให้​เรียบ​และ​เซาะ​เป็น​ร่อง​เล็ก ๆ ไว้. ไส้​ดินสอ​จะ​ถูก​นำ​ไป​ใส่​ตาม​ร่อง​ที่​เซาะ​ไว้​ของ​ไม้​แผ่น​หนึ่ง และ​จะ​นำ​แผ่น​ไม้​อีก​แผ่น​หนึ่ง​มา​ประกบ​และ​ติด​ด้วย​กาว. เมื่อ​กาว​แห้ง​แล้ว​จะ​มี​การ​ตัด​แผ่น​ไม้​ออก​เป็น​แท่ง ๆ. หลัง​จาก​ทำ​เป็น​รูป​แท่ง​ดินสอ, ขัด​ด้วย​กระดาษ​ทราย, ทาสี, และ​ติด​ตรา​เครื่องหมาย​การ​ค้า​ผู้​ผลิต​รวม​ถึง​ราย​ละเอียด​อื่น ๆ แล้ว ดินสอ​ที่​ไม่​เห็น​รอย​ต่อ​ก็​พร้อม​สำหรับ​การ​ใช้​งาน​แล้ว​ใน​ตอน​นี้. บาง​ครั้ง​จะ​มี​การ​ติด​ยาง​ลบ​ไว้​ที่​ปลาย​ดินสอ​ด้วย.

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Faber-Castell AG

[กรอบ/ภาพ​หน้า 14]

ฉัน​ควร​จะ​ใช้​ดินสอ​แบบ​ไหน?

เพื่อ​จะ​ได้​ดินสอ​แบบ​ที่​คุณ​ต้องการ โปรด​สังเกต​ตัว​อักษร​หรือ​ตัว​เลข​ที่​พิมพ์​อยู่​ข้าง​ดินสอ. สัญลักษณ์​เหล่า​นั้น​จะ​บอก​ระดับ​ความ​แข็ง​หรือ​ความ​อ่อน​ของ​ไส้​ดินสอ. ไส้​ดินสอ​ยิ่ง​อ่อน รอย​ขีด​ก็​ยิ่ง​เข้ม​ขึ้น.

HB เป็น​ไส้​ดินสอ​ที่​มี​ความ​เข้ม​ระดับ​ปานกลาง ใช้​ได้​ทั่ว​ไป.

B เป็น​ไส้​ดินสอ​ชนิด​อ่อน​กว่า. ตัว​เลข เช่น 2​B หรือ 6​B บอก​ระดับ​ความ​อ่อน​ของ​ไส้​ดินสอ ตัว​เลข​ยิ่ง​สูง​ไส้​ดินสอ​ก็​ยิ่ง​อ่อน.

H เป็น​ไส้​ดินสอ​ชนิด​แข็ง. ตัว​เลข​ยิ่ง​สูง เช่น 2​H, 4​H, 6​H, และ​อื่น ๆ ไส้​ดินสอ​ก็​ยิ่ง​แข็ง.

F หมาย​ถึง​ไส้​ดินสอ​เนื้อ​ละเอียด.

บาง​ประเทศ​ใช้​ระบบ​บอก​ระดับ​ที่​ต่าง​ออก​ไป. ตัว​อย่าง​เช่น​ใน​สหรัฐ เลข 2 เท่า​กับ HB. ใน​ระบบ​ดัง​กล่าว​นี้ เลข​ยิ่ง​สูง ไส้​ดินสอ​ก็​ยิ่ง​แข็ง.