ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

เคล็ดลับ​ที่​ทำให้​มี​ความ​สุข

รู้จักให้อภัย

รู้จักให้อภัย

“ตอน​เป็น​เด็ก ฉัน​ได้​ยิน​เสียง​ทะเลาะ​กัน​และ​เสียง​กรี๊ด​บ่อย ๆ” ผู้​หญิง​ชื่อ​แพทริเซีย​เล่า​ต่อ​ว่า “ฉัน​ไม่​เคย​เรียน​รู้​เรื่อง​การ​ให้​อภัย แม้​จะ​โต​เป็น​ผู้​ใหญ่​แล้ว​แต่​เวลา​มี​คน​มา​ทำ​ให้​โกรธ ฉัน​ก็​มัก​คิด​วน​ไป​วน​มา​ถึง​เรื่อง​นั้น​อยู่​หลาย​วัน​จน​นอน​ไม่​หลับ” เห็น​ได้​ชัด​ว่า​ความ​โกรธ​และ​ความ​เจ็บใจ​ทำ​ให้​ชีวิต​ไม่​มี​ความ​สุข​และ​ยัง​ทำ​ให้​เสีย​สุขภาพ​ด้วย ที่​จริง มี​งาน​วิจัย​มาก​มาย​ที่​ทำ​ให้​รู้​ว่า​คน​ที่​ไม่​ให้​อภัย​อาจ . . .

  • ปล่อย​ให้​ความ​โกรธ​และ​ความ​ขมขื่น​ส่ง​ผล​เสีย​ต่อ​ความ​สัมพันธ์​กับ​คน​อื่น ซึ่ง​ทำ​ให้​ตัว​เอง​ต้อง​โดด​เดี่ยว​และ​เหงา

  • โกรธ​ง่าย หงุดหงิด หรือ​ถึง​กับ​ซึมเศร้า

  • มอง​แต่​ข้อ​ผิด​พลาด​จน​ทำ​ให้​ชีวิต​ไม่​มี​ความ​สุข

  • รู้สึก​ผิด​ที่​ตัว​เอง​ไม่​ได้​ทำ​ตาม​หลัก​คำ​สอน​ของ​ศาสนา

  • มี​ความ​เครียด​มาก​ขึ้น​และ​มี​แนว​โน้ม​ที่​จะ​เจ็บ​ป่วย ไม่​ว่า​จะ​เป็น​โรค​ความ​ดัน​โลหิต​สูง โรค​หัวใจ และ​อาการ​เจ็บ​ปวด​อื่น ๆ เช่น ข้อ​อักเสบ และ​ปวด​หัว *

การ​ให้​อภัย​คือ​อะไร? การ​ให้​อภัย​หมาย​ถึง การ​ยก​โทษ​ให้​คน​ที่​ทำ​ผิด ไม่​เก็บ​ความ​โกรธ​ไว้​หรือ​คิด​แค้น​เคือง และ​ไม่​คิด​แก้แค้น แต่​ไม่​ได้​หมาย​ความ​ว่า​เรา​เห็น​ด้วย​กับ​ความ​ผิด​นั้น หรือ​มอง​ว่า​เป็น​เรื่อง​เล็ก หรือ​มอง​ข้าม​ไป​โดย​ถือ​ว่า​เรื่อง​นั้น​ไม่​เคย​เกิด​ขึ้น จริง ๆ แล้ว การ​ให้​อภัย​คือ​การ​ที่​เรา​คิด​อย่าง​ดี​แล้ว​ว่า​เรา​เลือก​ที่​จะ​ให้​อภัย เพราะ​เรา​รัก​คน​อื่น​เรา​จึง​ถือ​ว่า​สันติ​สุข​เป็น​เรื่อง​สำคัญ และ​เพราะ​เรา​ต้องการ​สร้าง​และ​รักษา​ความ​สัมพันธ์​ที่​ดี​กับ​คน​นั้น​ไว้

การ​ให้​อภัย​ยัง​แสดง​ถึง​ความ​เข้าใจ​ด้วย คน​ที่​ให้​อภัย​คน​อื่น​เข้าใจ​ว่า​ทุก​คน​มี​ข้อ​ผิด​พลาด​หรือ​ทำ​บาป​กัน​ทั้ง​นั้น ไม่​ว่า​จะ​ทาง​คำ​พูด​หรือ​การ​กระทำ (โรม 3:23) คัมภีร์​ไบเบิล​ก็​บอก​อย่าง​นั้น​ด้วย​ว่า “ถ้า​ใคร​มี​สาเหตุ​จะ​บ่น​คน​อื่น ก็​ขอ​ให้​ทน​กัน​และ​กัน และ​ให้​อภัย​กัน​อย่าง​ใจ​กว้าง​ต่อ​ไป”—โคโลสี 3:13

ดัง​นั้น จึง​พูด​ได้​ว่า​การ​ให้​อภัย​เป็น​ส่วน​สำคัญ​ของ​ความ​รัก เพราะ “ความ​รัก​ผูก​พัน​ผู้​คน​ให้​เป็น​น้ำ​หนึ่ง​ใจ​เดียว​กัน​อย่าง​แท้​จริง” (โคโลสี 3:14) ที่​จริง ข้อมูล​จาก​เว็บไซต์​มาโย​คลินิก​บอก​ว่า การ​ให้​อภัย​จะ​ทำ​ให้ . . .

  • มี​ความ​สัมพันธ์​ที่​ดี​กับ​คน​อื่น รวม​ถึง​เข้าใจ เห็น​อก​เห็น​ใจ รัก​และ​สงสาร​คน​ที่​ทำ​ผิด​ต่อ​เรา

  • รู้สึก​สบาย​ใจ​ที่​รู้​ว่า​ได้​ทำ​ตาม​คำ​สอน​ของ​ศาสนา

  • ความ​กังวล ความ​เครียด และ​ความ​เกลียด​ชัง​น้อย​ลง

  • มี​อาการ​ของ​โรค​ซึมเศร้า​น้อย​ลง

ให้​อภัย​ตัว​เอง วารสาร​เกี่ยว​กับ​สุขภาพ​ชื่อ Disability & Rehabilitati​on บอก​ไว้​ว่า การ​ให้​อภัย​ตัว​เอง “อาจ​เป็น​เรื่อง​ยาก​ที่​สุด” แต่ “สำคัญ​ที่​สุด​ต่อ​สุขภาพ” ทั้ง​ทาง​ร่าง​กาย​และ​จิตใจ คุณ​จะ​ให้​อภัย​ตัว​เอง​ได้​อย่าง​ไร?

  • ไม่​คาด​หมาย​ความ​สมบูรณ์​แบบ​จาก​ตัว​เอง แต่​ยอม​รับ​ความ​จริง​ที่​ว่า คุณ​ก็​เหมือน​เรา​ทุก​คน​ที่​ทำ​ผิด​พลาด​ไป​บ้าง—ปัญญาจารย์ 7:20

  • เรียน​รู้​จาก​ความ​ผิด​พลาด​ของ​ตัว​เอง เพื่อ​จะ​ไม่​ทำ​ผิด​ซ้ำ​อีก

  • อด​ทน​กับ​ตัว​เอง ลักษณะ​นิสัย​ที่​ไม่​ดี​บาง​อย่าง​อาจ​แก้ไข​ไม่​ได้​ใน​ชั่ว​ข้าม​คืน—เอเฟซัส 4:23, 24

  • คบหา​กับ​เพื่อน​ที่​ให้​กำลังใจ คิด​บวก และ​ใจ​ดี แต่​ก็​จริง​ใจ​กับ​คุณ—สุภาษิต 13:20

  • ถ้า​คุณ​ทำ​ให้​คน​อื่น​เสียใจ ก็​ให้​ยอม​รับ​และ​รีบ​ไป​ขอ​โทษ ถ้า​คุณ​สร้าง​สันติ​สุข​กับ​คน​อื่น คุณ​ก็​จะ​รู้สึก​สงบ​ใจ—มัทธิว 5:23, 24

คำ​แนะ​นำ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ดี​จริง ๆ!

หลัง​จาก​ได้​เรียน​คัมภีร์​ไบเบิล แพทริเซีย​ที่​พูด​ถึง​ก่อน​หน้า​นี้​เรียน​รู้​ที่​จะ​ให้​อภัย เธอ​เขียน​ว่า “ฉัน​รู้สึก​สบาย​ใจ เพราะ​ฉัน​ไม่​เก็บ​ความ​โกรธ​ไว้​เหมือน​เมื่อ​ก่อน ความ​โกรธ​เคย​เป็น​เหมือน​ยา​พิษ​ใน​ชีวิต​ของ​ฉัน แต่​ตอน​นี้​ฉัน​ไม่​ทุกข์​ใจ​อีก​ต่อ​ไป และ​ไม่​ได้​ทำ​ให้​ใคร​ทุกข์​ใจ​เพราะ​ฉัน​ด้วย คำ​แนะ​นำ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ทำ​ให้​เรา​มั่น​ใจ​ว่า​พระเจ้า​รัก​เรา และ​อยาก​ให้​เรา​ได้​รับ​สิ่ง​ที่​ดี​ที่​สุด”

ผู้​ชาย​คน​หนึ่ง​ชื่อ​รอน​บอก​ว่า “ผม​ควบคุม​ความ​คิด​และ​การ​กระทำ​ของ​คน​อื่น​ไม่​ได้ แต่​ผม​ควบคุม​ตัว​เอง​ได้ ถ้า​ผม​อยาก​มี​สันติ​สุข ผม​ต้อง​ไม่​เก็บ​ความ​เจ็บใจ​ไว้ ผม​พยายาม​มอง​ว่า​สันติ​สุข​และ​ความ​เจ็บใจ​เป็น​เหมือน​ทิศ​เหนือ​กับ​ทิศ​ใต้ ผม​จะ​อยู่​ทั้ง 2 ทิศ​ใน​เวลา​เดียว​กัน​ไม่​ได้ ตอน​นี้​ผม​ไม่​รู้สึก​ผิด​แต่​รู้สึก​สบาย​ใจ”

^ วรรค 8 แหล่ง​ที่​มา: Mayo Clinic และ​เว็บไซต์ Johns Hopkins Medicine และ​วารสาร​ทาง​จิตวิทยา​ชื่อ Social Psychiatry and Psychiatric Epidemiology